TH EN

คณะกรรมการความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 3 ท่าน ดังนี้

1. ศาสตราจารย์พิเศษพิภพ วีระพงษ์ ประธานกรรมการ
2. นายประดิษฐ ศวัสตนานนท์ กรรมการ
3. ดร. สุปรียา ควรเดชะคุปต์ กรรมการ

โดยมีนายจุมพล สุวรรณวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและกำกับดูแลธนาคาร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

อนึ่ง คณะกรรมการบรรษัทภิบาล ได้เปลื่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล และปรับเพิ่มหน้าที่ ความรับผิดชอบเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566

คณะกรรมการความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตความรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท โดยปี 2566 คณะกรรมการความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลมีการประชุมรวม 12 ครั้ง และรายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการบริษัท สรุปสาระสำคัญดังนี้

  1. พิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code : CG Code) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักธรรมาภิบาลที่ดีของสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และน่าเชื่อถือ
  2. พิจารณาทบทวนนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยบริษัทมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ตามแนวทางของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Institute) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. พิจารณาทบทวนนโยบายการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Policy) รวมถึงกฎบัตรการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Charter) เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ทราบถึงขอบเขต อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณของสายงานกำกับกฎเกณฑ์ทางการ
  4. เสริมสร้างวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม การทบทวนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการภายใต้หลักการของกฎหมาย ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม เป็นไปตาม แนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานทางการและองค์กรต่างๆ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
  5. พิจารณาทบทวนนโยบายการแจ้งเบาะแสและการร้องเรียน (Whistleblower Policy) เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีระบบ ที่สนับสนุนการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพ และตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสและร้องเรียน รวมถืงสื่อสารนโยบายให้พนักงานทุกคนรับทราบเป็นประจำทุกปี
  6. ผลักดันให้บริษัทมีการดำเนินการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคม และหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) อย่างเป็นรูปธรรม

บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณค่าให้กิจการดำรงอย่างยั่งยืน